กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ “กำจัดลูกน้ำยุงลาย ก่อนออกกำลังกายทุกวันพุธ” ตามนโยบายท่านนายกรัฐมนตรี โดยขอความร่วมมือทุกหน่วยงานและประชาชนทั่วประเทศ ร่วมดำเนินกิจกรรมเพื่อเป็นการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย พร้อมเผยผลดีดีซีโพล คนไทยร้อยละ 35.6 เห็นว่าหากมียุงในบ้าน จะกำจัดยุงด้วยตัวเอง และร้อยละ 3.9 หากป่วยจะปล่อยให้หายเอง ซึ่งเสี่ยงและมีโอกาสแพร่ให้ผู้อื่นสูง
วันนี้ (7 มิถุนายน 2560) ที่โรงเรียนไผทอุดมศึกษา กรุงเทพฯ นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงจริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร และคุณพริ้มพราย สุพโปฎก ประธานอำนวยการโรงเรียนไผทอุดมศึกษา ร่วมเปิดกิจกรรมรณรงค์ “กำจัดลูกน้ำยุงลาย ก่อนออกกำลังกายทุกวันพุธ” โดยมีผู้บริหารโรงเรียน คุณครู นักเรียน และบุคลากรกรมควบคุมโรค ร่วมกันสำรวจ ทำความสะอาด และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ก่อนออกกำลังกาย ในบริเวณโรงเรียน และบริเวณที่ออกกำลังกาย
นายแพทย์เจษฎา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงจำเป็นที่ทุกหน่วยงาน ชุมชน และประชาชนทุกคน ต้องร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กำจัดลูกน้ำยุงลาย และควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-29 พฤษภาคม 2560 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 11,797 ราย เสียชีวิต 21 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี(ร้อยละ 26.8) รองลงมาคือ 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน (ร้อยละ 46.2)
ดังนั้น จึงขอความร่วมมือทุกหน่วยงาน ทั้งส่วนราชการ ท้องถิ่น ชุมชน และประชาชนทั่วประเทศ ที่จัดกิจกรรมการออกกำลังทุกวันพุธ ตามนโยบายท่านนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมดำเนินกิจกรรม “กำจัดลูกน้ำยุงลาย ก่อนออกกำลังกายทุกวันพุธ” เพื่อเป็นการอบอุ่นร่างกายและได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ 1.มีสุขภาพดีและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากการออกกำลังกาย และ 2.การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยการสำรวจ ค้นหา กำจัดลูกน้ำยุงลายและจัดการสิ่งแวดล้อม ในที่ทำงาน รอบๆ ที่ทำงาน ภายนอกอาคาร เน้นภาชนะขังน้ำที่อยู่ใกล้ตัว คือ แจกัน ที่รองน้ำดื่ม รวมทั้งสำรวจตามเส้นทางไปยังสนามกีฬาและบริเวณออกกำลังกายหรือรอบสนามกีฬา ใช้เวลา 15-30 นาที ก่อนเริ่มออกกำลังกาย และหากพบขอให้เก็บ แยก คว่ำ ปิด ทำความสะอาด นำกลับมาใช้ใหม่ ใส่ทราย หรือทำลายภาชนะที่พบลูกน้ำยุงลาย
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ ดีดีซีโพล (DDC Poll) เรื่อง“โรคไข้เลือดออก” จากกลุ่มเป้าหมาย 3,300 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 25 จังหวัดทั่วประเทศ โดยสำรวจในช่วงเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญพบว่า ประชาชนมีความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกอยู่ในเกณฑ์ดีมาก กล่าวคือ ร้อยละ 98.9 รู้ว่ายุงลายนำเชื้อไข้เลือดออก, ร้อยละ 97.1 รู้ว่าผู้ใหญ่สามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ รวมถึงหากมีอาการไข้สูงลอย ซึม เบื่ออาหาร มีจุดเลือดออกตามแขนขา (อาการของโรคไข้เลือดออก) ร้อยละ 82.4 ตอบว่าควรรีบไปพบแพทย์ แต่ยังพบร้อยละ 3.9 ที่ตอบว่าปล่อยให้หายเอง ซึ่งถือว่าเสี่ยงและหากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมีโอกาสเป็นพาหะที่ยุงจะกัดและนำไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่นสูง นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 37.5 เห็นว่าตนเองควรเป็นกำลังหลักในการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก และส่วนใหญ่ร้อยละ 35.6 เห็นว่าหากมียุงชุกชุมในบริเวณบ้าน จะกำจัดด้วยตัวเอง รองลงมาร้อยละ 30.7 ให้ชุมชนร่วมกันกำจัดยุง
ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3โรค คือโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
*******************************************************143/60
ข้อมูลจาก : สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์ 0-2590-3857 วันที่ 7 มิถุนายน 2560